การฟัง ลดความทุกข์ได้

ความเหงา ลดระยะห่าง ทำให้เข้าใกล้กันมากขึ้น

โดยทั่วไป เรามักคุ้นเคยกับการเป็นผู้พูดและเป็นผู้ฟัง คุ้นเคยกับการตอบโต้และแสดงปฏิกริยาโดยอัตโนมัติ ตกอยู่ในร่องของความเคยชิน แต่นั้นไม่ใช่การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นรูปธรรมที่แสดงให้อีกฝ่ายเห็นอย่างชัดเจนว่า เขาเป็นคนมีคุณค่า มีความสำคัญ เพราะในขณะที่ฟังเรากำลังให้เวลากับเขาอย่างแท้จริง การฟังอย่างลึกซึ้งอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

  • การอยู่กับคนตรงหน้า 100%
  • การเท่าทันความคิดหรือเสียงในหัว
  • การรับรู้-ใส่ใจความรู้สึกของผู้พูด

ในขณะที่ฟังอย่างลึกซึ้งโดยอาศัย 3 องค์ประกอบนี้เป็นพื้นฐาน เราจะไม่ทำงานไปด้วยฟังไปด้วย เราจะหยุดภารกิจทุกอย่างแล้วฟังอย่างตั้งใจ ให้เวลา ณ ขณะนั้นเพื่อฟังอย่างแท้จริง แม้ว่าเราอาจจะมีความคิดต่าง เห็นต่าง ไม่เชื่อ สงสัย เราก็จะยังคงนิ่งฟังต่อไปโดยไม่ขัดจังหวะ ไม่โต้แย้ง ด้วยความตระหนักในคุณค่าและใส่ใจคนที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ เราจะเริ่มรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก และความเป็นมนุษย์ของเขา นี่คือประตูที่จะเชื่อมความเป็นมนุษย์ของเราเข้าหากัน

การอยู่กับคนตรงหน้า 100 %

ในขณะที่ฟัง คนตรงหน้าคือผู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา ณ ขณะนั้น เราจะวางจากภาระกิจจากทุกสิ่งทุกอย่าง และอุทิศเวลาทั้งหมดของเรา ณ ขณะนั้นเพื่ออยู่กับคนตรงหน้าเพื่อฟัง ฟังเสียง ฟังคำพูด ฟังท่าทาง และอาจจะฟังความเงียบของเขาด้วย

การเตรียมตัว – สิ่งที่ควรทำ

  • เตรียมพื้นที่ภายในใจ ให้มีที่ว่าง โล่ง พร้อมที่จะฟังทุกสิ่งทุกอย่างจากคนตรงหน้า
  • วางภารกิจทุกอย่างในช่วงเวลาของการฟังอย่างลึกซึ้ง เช่น ไม่ฟังไปด้วยขับรถไปด้วย หรือฟังไปกินข้าวไป หรือไม่เช็คอีเมล เช็คไลน์ ตอบไลน์ ไม่เปิดคอมพ์พิวเตอร์ ไม่รับโทรศัพท์ ฯลฯ ขอให้ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาของการฟังอย่างแท้จริง
  • ฟังให้จบโดยไม่พูดแทรก ไม่ขัดจังหวะ ไม่ซักถามในรายละเอียด รวมถึงไม่กระตุ้นเร้าตามความอยากรู้ของตัวเรา
  • สังเกตสีหน้า แววตา กริยาท่าทางของผู้พูด สบตา ความรับรู้การดำรงอยู่ของคนตรงหน้า
  • ยอมรับทุกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของผู้พูด ไม่ห้าม ไม่ปฏิเสธ ไม่ขัดจังหวะ เช่น ความเงียบ น้ำตา และทุกความรู้สึก

การเท่าทันความคิดหรือเสียงในหัว

อุปสรรคใหญ่ของการเป็นผู้ฟังที่ดีก็คือ ความคิดหรือเสียงในหัวของเรา (ผู้ฟัง) ความคิด หรือเสียงในหัวนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เราพูดแทรก ขัดจังหวะ ถาม หรือพยายามที่จะ ‘ให้ข้อเท็จจริง’ — ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกีดขวางการฟังของเรา ทำให้ไม่สามารถทำให้ฟังได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ขอให้เราตระหนักเสมอว่า ในขณะฟัง เราฟังเพื่อฟังเท่านั้น

เสียงในหัว เกิดขึ้นตอนไหน และจะทำอย่างไรดี

  • เมื่อเรื่องที่เรากำลังฟังอยู่นั้นขัดกับทัศนคติพื้นฐานของเรา ขัดกับความคิด ความเชื่อของเรา ทั้งเรื่องแบบ “ควรจะ” หรือ “ไม่ควรจะ” เช่น เมื่อลูกฟังแม่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุปรับทุกข์เรื่องอาหารการกิน หรือ เมื่อแม่ฟังลูกวัยรุ่นคุยถึงชีวิตติดเทรนด์ฯลฯ เราจะมีความรู้สึกหรือเผลอคัดค้าน เถียง สั่งสอน จนหลุดออกจากการเป็นผู้ฟัง
  • เมื่อเรื่องที่กำลังฟังอยู่นั้นขัดกับข้อเท็จจริงที่เรารับรู้มา ทำให้เราอยากจะแก้ไข แก้ต่าง หรือให้ข้อมูลใหม่ เราจะหลุดออกจากการฟัง แต่จะพยายามเรียบเรียงความคิด พยายามที่จะหาช่องว่าง หาช่องทางเพื่ออธิบาย — ในตอนนั้นเราไม่ได้เป็นอยู่กับคนตรงหน้าเต็มที่ หลุดออกจากการเป็นผู้ฟัง
  • เมื่อเรื่องที่กำลังฟังนั้นเป็นเรื่องที่ตรงกับความคิด ความเชื่อ ตรงกับประสบการณ์ของเรา หรือเป็นข้อมูลที่มาจากครูบาอาจารย์ ผู้มีชื่อเสียงที่น่าเชื่อถือ เราจะรู้สึกคล้อยตาม อินไปด้วย จนอาจจะผสมโรงไปด้วยราวกับว่าเรื่องของเขาก็คือเรื่องของเราเช่นกัน
  • เมื่อเราเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ตรงในเรื่องที่กำลังฟัง เช่น นักสิทธิมนุษยชนนั่งฟังเจ้าของโรงงาน เมื่อครูนั่งฟังผู้ต้องขัง

วิธีการสร้างความเท่าทัน และ รับมือกับความคิดหรือเสียงในหัว

  • ความคิด หรือเสียงในหัวนี้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเร็วมาก ห้ามไม่ได้ ไม่ต้องสู้กับความคิด ห้ามความคิด  ให้กลับมาตระหนัก รับรู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น แล้วกลับมาอยู่กับคนตรงหน้า
  • บางครั้งเราสังเกตความคิดไม่ทัน แต่ถ้ารับรู้ได้ว่า เราเม้มปาก เบือนหน้าหนี ขยับตัวออก ส่ายหน้า หรือ การโน้มตัวไปข้างหน้า ขยับตัวยุกยิก นั่งไม่ติด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า มีความคิดที่เข้มข้นเกิดขึ้นในตัวของเรา อาจจะไม่เห็นด้วยอย่างมาก หรือกำลังเห็นด้วยอย่างมาก ขอให้กลับมาหายใจลึกๆ บอกตัวเองว่าเรากำลังอยู่ในการฟังอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่เรากำลังใจที่จะทำในตอนนี้คือการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างลึกซึ้ง เรื่องอื่นๆ ขอให้ทำหลังจากนี้ ขณะนี้ฟังเพื่อฟังเท่านั้น
  • หากรู้สึกว่าฟังต่อไปไม่ไหวแล้วจริงๆ ขอให้ส่งสัญญาณกับผู้พูด ขอเวลานอกเพื่อพักการฟัง ให้เวลาตัวเองได้พักสักครู่ ดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ แล้วจึงกลับมาฟังใหม่ หรือนัดเวลาเพื่อฟังครั้งต่อไป

การรับรู้-ใส่ใจความรู้สึกของผู้พูด

งานวิจัยของ Professor Albert Mehrabian มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอกกับพวกเราว่า ถ้อยคำเป็นเพียง 7% เท่านั้นของเนื้อหาทั้งหมดที่ผู้พูดอยากบอก เนื้อหาอีก 93% ไม่ได้อยู่ในคำพูด ! ดังนั้น ผู้ฟังที่ดีจึงต้องฟังทั้งสิ่งที่เป็นคำพูด และสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาเช่น ความเงียบ น้ำตา ความนิ่ง อั้น  น้ำเสียง โทนเสียง แววตา สีหน้า กิริยาท่าทาง — สิ่งเหล่านี้กำลังบอกว่า ผู้พูดกำลังรู้สึกอะไร ซึ่งบางครั้ง ถ้อยคำที่พูด กับความรู้สึกที่ผ่านออกมาอาจจะไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ เช่น “เปล่า ไม่ได้งอน” หรือ “สบายดี ไม่มีอะไร”

วิธีสังเกตและรับรู้ความรู้สึกของผู้พูด

  • เมื่อเกิดภาวะนิ่ง  เงียบ dead air  เกิดขึ้น ขอให้ฟังความเงียบนั้นและยังคงรักษาการดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเต็มร้อย การที่อีกฝ่ายไม่มีคำพูดนั่นไม่ได้แปลว่า “ไม่มีอะไร” — เมื่อมีเสียงหัวเราะเกิดขึ้นในการฟัง พวกเราไม่ตกใจ รู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากมีน้ำตาเกิดขึ้นในการฟังก็ขอให้เราปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ น้ำตาก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องพยายามทำให้เขาหยุดร้องไห้ ไม่ต้องพยายามปลอบใจ เพียงแค่ดำรงอยู่อย่างเต็มร้อย สักพักอารมณ์จะค่อยๆ จางและบรรเทาลง แล้วการฟังก็จะดำเนินต่อไปตามปกติ

วิธีสะท้อนความรู้สึกและให้ความเข้าใจ

  • เมื่อผู้พูดพูดจบแล้ว (ฟังจนจบแล้วจริงๆ) ผู้ฟังสามารถที่สะท้อนความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของผู้พูดได้เช่น “คุณรู้สึกเหนื่อยใช่ไหมที่ออกไปทำงานทั้งวันและยังต้องกลับมาทำงานบ้านอีก” หรือ “แม่คงรู้สึกกังวลที่จะไปหาหมอ และแม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อนเพราะแม่ใช่ไหมคะ” — การสะท้อนแบบนี้คือการให้ความเข้าใจในชุดความรู้เรื่อง การสื่อสารอย่างสันติ* ขอให้ตัวเรา (ผู้รับฟัง) ตระหนักเสมอว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเรื่องราวเป็นความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง เราเป็นเพียงผู้สังเกตและสะท้อนเท่านั้น

*การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolence Communication – NVC) ให้ความสำคัญต่อการฟังเป็นลำดับแรก ฟังให้ได้ยินความรู้สึก แล้วจากนั้นก็จะได้ยินความต้องการที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป เมื่อได้ยินทั้งความรู้สึกและความต้องการแล้ว ก็จะสามารถให้ความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ นี่คือกระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่สันติอาสาฝึกและใช้เป็นทักษะในการทำงานเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง

สรุป

นี่คือ องค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากการฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ฟื้นฟูความใกล้ชิดสนิทสนม และช่วยบรรเทาความทุกข์แล้ว การฟังยังเป็นรากฐานของการกลับมารู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดในการเป็นมนุษย์

ขอเชิญลองเรียนรู้และฝึกด้วยตนเองผ่านบทเรียนออนไลน์โดยกดที่รูปด้านล่างนี้


ตัวอย่างเรื่องราวของผู้ที่ได้ประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการฟัง

คุณแม่ยุคดิจิตอล

คลับที่ยอมรับความหลากหลาย

ฉันคนใหม่ เมื่อได้รู้ความต้องการ

ฟังเป็น เข้าใจ ‘ฅน’

ถังพลังงานของมนุษย์

หมอฟังคนไข้ คนไข้ฟังหมอ

National Month of Listening